ประเด็นการทำงาน
RRLP เน้นไปที่การทำงานในเชิงยุทธศาสตร์มากกว่าการช่วยเหลือรายกรณีโดยทำงานให้ประเด็นต่อไปนี้
ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ลี้ภัยไม่ให้ถูกผลักดันกลับไปเผชิญเหตุอันตรายในประเทศต้นทาง
ทั้งทำงานในเชิงนโยบายเพื่อให้มีความคุ้มครองผู้ลี้ภัยที่อยู่ในประเทศไทย เช่น การให้ความช่วยเหลือตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักร และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565
ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ลี้ภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
ให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่ทำงานแล้วไม่ได้รับค่าจ้าง และการผลักดันให้ผู้ลี้ภัยสามารถทำงานได้โดยถูกกฎหมายโดยสนับสนุนการขอใบอนุญาตทำงาน ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทำงาน สิทธิในการทำงาน และสิทธิที่จะได้รับใบอนุญาตทำงานขึ้นสู่การพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ลี้ภัยในสถานกักตัวคนต่างด้าวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
ให้ข้อมูลและคำแนะนำในประเด็นที่เกี่ยวกับห้องกักทั้งแก่ผู้ลี้ภัยโดยตรงและแก่ญาติที่อยู่นอกห้องกักในประเด็นการกักตัวเด็กผู้ลี้ภัยในห้องกักโดยไม่ผ่านกระบวนการศาล การยื่นขอประกันตัวจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองการเดินทางออกไปประเทศที่สามจากห้องกัก เป็นต้น
พัฒนาสิทธิของเด็กผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยภายใต้กฎหมายการทะเบียนราษฎร
ให้ความช่วยเหลือในเรื่องการจดทะเบียนการเกิด การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลในเอกสารทางทะเบียนที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐบาลไทย การทำบัตรประจำตัว และการช่วยเหลือให้เด็กผู้ลี้ภัยเข้าถึงสิทธิต่างๆ เช่น การศึกษาการทำงาน การเดินทาง การรักษาพยาบาล เป็นต้น
เสริมสร้างเครือข่ายทนายความ
และคนทำงานด้านกฎหมายในประเด็นผู้ลี้ภัย
จัดทำเอกสารเผยแพร่ จัดอบรมในประเด็นการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ลี้ภัย ทำงานร่วมกับภาคีจากหลายภาค รวมทั้งสำนักงานกฎหมายและทนายความที่สนใจในประเด็นผู้ลี้ภัย
เกี่ยวกับงานของโครงการ
คำถามเหล่านี้คือคำถามที่เรามักจะได้รับการสอบถามเข้ามา แต่ถ้าท่านมีคำถามนอกเหนือจากนี้สามารถสอบถามได้ผ่านช่องทางติดต่อ